มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย

งานสาธยายคัมภีร์ปัฏฐาน โดยพระสงฆ์พม่าและพระสงฆ์สามเณรไทย ๒๗๒ รูป ร่วมกันสวดสาธยายต่อเนื่องตลอด ๗ วัน ๗ คืน

มนต์แห่งพระธรรม ชี้นำสู่พระนิพพาน
—- งานสาธยายคัมภีร์ปัฏฐาน โดยพระสงฆ์พม่าและพระสงฆ์สามเณรไทย ๒๗๒ รูป ร่วมกันสวดสาธยายต่อเนื่องตลอด ๗ วัน ๗ คืน
— คัมภีร์ปัฏฐาน เป็นคัมภีร์ลำดับที่ ๗ ของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์
— เป็นคัมภีร์ที่แสดงปัจจัยของธรรม ๒๔ แบบ เรียกว่า “คัมภีร์มหาปกรณ์” เพราะมีเนื้อหาละเอียดมาก
— ปัจจัจย ๒๔ ในคัมภีร์ปัฏฐานนั้น คือลักษณะอาการแห่งความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งทั้งหลาย ที่สิ่งหนึ่งหรือสภาวธรรมอย่างหนึ่ง เป็นองค์ประกอบที่ช่วยเอื้อ เกื้อหนุน ค้ำจุน เป็นเหตุ หรือเป็นเงื่อนไขให้สิ่งอื่น หรือสภาวธรรมอย่างอื่น เกิดขึ้น คงอยู่ หรือเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่ง
— ปัจจัย ๒๔ แบบ คือ ๑.เหตุปจฺจโย (ปัจจัยโดยเป็นเหตุ) – ๒๔.อวิคตปจฺจโย (ปัจจัยโดยไม่ปราศจากไป)
— เนื้อหาในคัมภีร์ปัฏฐานนั้น แสดงความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลายทุกแง่ทุกมุม ว่ามีเหตุมาจากอะไร เป็นปัจจัยแก่อะไร มีความสัมพันธ์แก่กันอย่างไร เน้นให้เห็นว่า ธรรมทั้งหลายไม่ได้เป็นอยู่หรือมีอยู่โดยตัวของตัวเอง แต่เป็นอยู่มีอยู่ด้วยเหตุด้วยปัจจัย ช่วยรับรองหลักปฏิจจสมุปบาทให้ชัดยิ่งขึ้น ช่วยให้เรามองดูโลกและตัวเราเองได้ชัดเจนและถูกต้อง จึงเป็นคัมภีร์ที่ให้ความแจ่มกระจ่างแก่ผู้ศึกษาและปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสภาวธรรมตามความเป็นจริง
— ตัวอย่างเช่น โลภะเป็นปัจจัยให้เกิดโทสะได้โดยปัจจัยอะไร ? ต้นไม้กับเมล็ดพืชมีความสัมพันธ์แก่กันโดยเป็นปัจจัยแก่กัน อย่างไร ? ดินกับน้ำ ตากับรูป มีความสัมพันธ์แก่กันโดยเป็นปัจจัยแก่กัน อย่างไร ? เป็นการสอนให้รู้จักใช้ปัญญาโดยบริสุทธิ์ เพื่อให้เห็นตัวเหตุ ตัวผล ตัวปัจจัยที่ต้องอาศัยกันและกันอย่างไร
— ปัจจัย ๒๔ แบบเหล่านี้ แต่ละข้อชื่อว่าปัฏฐาน เพราะมีการดำเนินอันเป็นไปด้วยอำนาจความเกี่ยวข้องกัน เพราะได้นัยอันมีความพิสดารในธรรมทั้งหลายมีกุศลเป็นต้น ซึ่งจำแนกออกเป็นประเภทมีเหตุปัจจัยเป็นต้น แห่งพระสัพพัญญุตญาณอันมีการดำเนินไปไม่ขัดกัน ในปกรณ์ทั้งหลายมีธัมมสังคณีปกรณ์เป็นต้น
— ปัจจัย ๒๔ นี้ เป็นสาระของคำอธิบายทั้งหมดในคัมภีร์ปัฏฐานแห่งพระอภิธรรมปิฎก อยู่ในพระไตรปิฎกเล่ม ๔๐ – ๔๕