มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พระพุทธองค์ตรัสไว้ก่อนจะปรินิพพานว่า “… พระธรรมวินัยที่พระองค์ได้แสดงไว้ บัญญัติไว้แล้วนี้ จักเป็นพระศาสดาตัวแทนของพระองค์..” เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายมีพระมหากัสสปะเป็นต้น ได้ประชุมสงฆ์รวบรวมพระธรรมวินัย จัดเป็นหมวดหมู่ สวดสาธยาย ลงมติรับรอง เรียกว่า “สังคายนา” ทรงจำ กล่าวสอน สืบต่อโดยระบบ “มุขปาฐะ” ท่องจำนำสืบทอดกันมาตามลำดับ จนได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก ในคราวประชุมสงฆ์สวดสังคายนาครั้งที่ ๕ ราว พ.ศ. ๔๕๐ เกิดเป็นระบบบาลีเถรวาท เรียกว่า “บาลีพระไตรปิฎก”
บาลีพระไตรปิฎก ที่พระธรรมวินัยสถิตอยู่เปรียบประดุจพระศาสดายังอยู่ แม้จะปรินิพพานล่วงแล้ว ๒๕๐๐ กว่าปี บาลีพระไตรปิฎกของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ได้รับการยอมรับว่า เป็นบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เก่าแก่ที่สุด ดั้งเดิมที่สุด ถูกต้องสมบูรณ์แม่นยำตรงพระพุทธดำรัสที่สุด ชาวพุทธเถรวาทตั้งแต่ครั้งบรรพกาล ได้ทำหน้าที่ศึกษา รักษาสืบทอดคัมภีร์บาลีพระไตรปิฎกโดยระบบ “บาลีปริยัติ” เรียกว่า พระปริยัติธรรม ที่ทำหน้าที่ยืนยันความถูกต้องในหลักปฏิบัติธรรม ยืนยันความมีอยู่จริงแห่งปฏิเวธธรรม
พระปริยัติธรรม จึงได้ชื่อว่าเป็นรากฐานของพระพุทธศาสนา เพราะบางกาลสมัย พระปฏิเวธธรรมและพระปฏิบัติธรรมบางครั้งก็มี บางครั้งก็ไม่มี เช่น หลังพุทธปรินิพพานไม่นาน ยังมีภิกษุผู้ทรงปฏิเวธธรรม คือ ผู้บรรลุธรรมมีเป็นจำนวนมาก ก็สามารถชี้นิ้วบอกได้ว่า “ภิกษุนี้เป็นปุถุชน หรือ อริยชน” สำหรับภิกษุผู้ปฏิบัติบางครั้งก็มีมาก บางครั้งก็มีน้อย จึงถือเป็นประมาณมิได้ ผู้เป็นบัณฑิตเมื่อศึกษาพระปริยัติธรรมเล่าเรียนพุทธพจน์คือพระไตรปิฎกแล้ว ย่อมสามารถยังพระปฏิบัติธรรมและพระปฏิเวธธรรมทั้งสองให้บริบูรณ์ได้ พระอัคควังสะมหาเถระ ได้กล่าวยืนยันไว้ว่า
“… เมื่ออักษรที่จารึกลงบนแผ่นหิน เพื่อเป็นลายแทงสำหรับสังเกตให้รู้ถึงขุมทรัพย์ ยังไม่เลือนหายไปตราบใด ขุมทรัพย์ ก็ยังชื่อว่าไม่สูญหายไปตราบนั้น ดังนั้น เมื่อพระปริยัติธรรมดุจลายแทงสมบัติ คือบาลีพระไตรปิฎกยังคงอยู่ ตราบใด พระพุทธศาสนา คือ ขุมทรัพย์พระธรรมคำสอน ก็ชื่อว่ายังไม่อันตรธานไป ตราบนั้น
ดังนั้น พระปริยัติธรรม คือ การศึกษาเล่าเรียนบาลีพระไตรปิฎก รักษาสืบทอดคัมภีร์บาลีพระไตรปิฎก รวมทั้งการสังคายนาตรวจสอบความบริสุทธิ์ถูกต้อง มิให้บาลีพระไตรปิฎกผิดพลาดคลาดเคลื่อน จึงเป็นรากฐานแห่งการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาได้อย่างมั่นคง
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นสถาบันที่เห็นความสำคัญของภาษาบาลีได้จัดการศึกษาหลักสูตรภาษาบาลี พระพุทธศาสนา พระไตรปิฎกศึกษาและวิปัสสนาภาวนา เพื่อขยายงานการศึกษาภาษาบาลี และพระไตรปิฎก ในการสร้างและพัฒนาศาสนทายาท จึงได้เริ่มโครงการสร้างโรงเรียนศากยบุตรสามเณรสีหะ เพื่อรับยุวชนเข้าศึกษาคัมภีร์บาลีเถรวาทแบบโบราณ ตั้งแต่เยาวัย เริ่มต้นจากการหาที่ดิน ใกล้ที่ตั้งเดิมในเขตอำเภอสามพราน และนครชัยศรี บางแปลงตกลงซื้อขายกันเรียบร้อย เตรียมวางมัดจำ บางแปลงได้เรียกผู้รับเหมาถมที่ดินเข้าประเมินเตรียมวางแผนการก่อสร้าง บางแปลงทำหนังสือขออนุมัติลงนามเบิกจ่ายแต่หาปากกาไม่เจอ จนเกิดคำพูดว่า “เทวดาเอาปากกาไปซ่อน” แล้วก็ยกเลิกการลงนาม ที่ดินทุกแปลงถูกยกเลิกการเจรจาซื้อขายโดยไม่ทราบสาเหตุ เหตุการณ์เช่นนี้ ผ่านไปวันแล้ววันเล่า ๒ ปีเต็ม เหมือนมีบางอย่างคอยขัดขวางและกระตุ้นเตือนชักนำให้มาที่นี่รางพิกุล กำแพงแสน ให้มาพบหลวงตารูปหนึ่งที่ปลูกป่าเฝ้ารักษาที่ดินรางพิกุล กำแพงแสน มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๑
เริ่มจากวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ พระธรรมวชิราจารย์ และรศ.ดร.เวทย์ บรรณกรกุล มาที่นี่ รางพิกุล กำแพงแสน ตามคำอาราธนานิมนต์ของดร.ภัสส์กุญช์ โสภณอนันต์กิจ เพื่อให้มาขอที่ดินจากที่เคยซื้อถวายพระราชวชิรเวที (บรรจบ ขนฺติโก) ตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ เมื่อได้รับอนุญาตให้สามารถใช้ที่ดินเพื่อการสร้างโรงเรียนศากยบุตรสามเณรสีหะ แล้ว ได้ทุ่มสรรพกำลังอย่างเต็มที่ ผ่านไปเพียง ๑๕ วัน เท่านั้น มีพระราชปุจฉาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เผดียงถามพระสงฆ์ ปรากฏตามสื่อเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๔ ใจความว่า “… จะจัดการเรียนการสอนพระบาลีอย่างไร ให้เข้าถึงพระไตรปิฎก …”
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์อัครพุทธศาสนูปถัมภก หลังเสด็จขึ้นครองถวัลย์ราชสมบัติสืบสันตติราชจักรีวงศ์แล้ว ทรงมีพระราชปุจฉาเกี่ยวกับพระปริยัติธรรมบาลีพระไตรปิฎก เผดียงถามพระสงฆ์ทั่วสังฆมณฑล เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๖๔ ว่า “… จะส่งเสริมการเรียนการสอนพระบาลีอย่างไร ให้เข้าถึงพระไตรปิฎก …”
มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย ได้รับการจัดตั้งขึ้น เมื่อปี ๒๕๖๔ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระนามของพระองค์ให้เป็นชื่อสถานศึกษา ทั้งยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบสร้าง ๑๐๐ ล้านบาท เพื่อให้เป็นสถานศึกษาคัมภีร์ “บาลีพระไตรปิฎก” ระบบบาลีเถรวาท กลุ่มคัมภีร์บาลีสัททาวิเสสแสดงหลักภาษา กัจจายนะ ปทรูปสิทธิ โมคคัลลานะ สัททนีติ อภิธาน วุตโตทัย สุโพธาลังการ และกลุ่มคัมภีร์วรรณคดีบาลีพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา โยชนา และ ปกรณ์วิเสสอื่น ๆ อันเป็นระบบปริยัติธรรมบาลีเถรวาท ที่บุรพาจารย์นำสืบทอดมาตามลำดับ
มีพระราชปุจฉาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เผดียงถามพระสงฆ์ ปรากฏตามสื่อเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๔ ใจความว่า “… จะจัดการเรียนการสอนพระบาลีอย่างไร ให้เข้าถึงพระไตรปิฎก …” จากพระราชปุจฉานี้ ทำให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใส่พระทัยในกิจการพระศาสนา ทรงทราบปัญหาบางประการที่มนุษย์ปุถุชนทั่วไปมองไม่เห็น แม้หากมีใครบางคนรู้ทราบมองเห็นปัญหานี้ก็มิอาจแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้ ด้วยคงเป็นเพราะบุญบารมีทางพระพุทธศาสนาที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมาหลายภพชาติ
พระบารมีแผ่ไพศาล
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ผู้ทรงเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา ใส่พระทัยในการศึกษาและปฏิบัติธรรม มีศรัทธา ประกอบ ด้วยปัญญา เมื่อได้พบเห็นหรือมีสิ่งกระตุ้นเตือน ภาษาพระเรียกว่า สสังขาริกะ ญาณสัมปยุตตะ พระองค์ก็ยิ่งบำเพ็ญบุญบารมีได้อย่างไพศาล โดยทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พระราชทานตำราเรียนและอุปกรณ์การเรียนต่าง ๆ รวมทั้ง ภัตตาหารถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ สามเณร ที่ศึกษาเล่าเรียนหลักสูตรพระปริยัติธรรมทั่วประเทศ
กล่าวได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนารักษาสืบทอด พระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้รับการรักษาสืบทอดมาในยุคแรกโดยพระอรหันต์มี พระมหากัสสปะ เป็นต้น มีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงอุปถัมภ์ พระธรรมวินัย ถูกรักษาสืบทอดมาในรูปของภาษาบาลี แม้ในยุคของการส่งสมณทูตเผยแผ่พระพุทธศาสนาออกจากชมพูทวีปในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช มายังสุวรรณภูมิ ซึ่งเชื่อว่า เป็นดินแดนในเขตแผ่นดินไทยและเมียนมาร์ในปัจจุบัน พระธรรมวินัยก็ได้รับการถ่ายทอด สืบสาน รักษามาโดยบุรพเถราจารย์และบุรพมหากษัตริย์ของไทยมาตามลำดับ
พระธรรมวชิราจารย์และรศ.ดร.เวทย์ บรรณกรกุล ได้ปรึกษากันว่า จะเริ่มต้นงานสร้างโรงเรียนเพื่อ “จัดการเรียนการสอนพระบาลีอย่างไร” จึงได้นำพระราชปุจฉาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวทางในการสร้างและพัฒนา จึงได้สื่อสารอธิบายชักชวนผู้สนับสนุนโครงการให้เข้าร่วมแนวคิด ต้องสร้างโรงเรียนใหม่ สร้างหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนใหม่ เพื่อเป็นการรักษาและพัฒนาศาสนทายาทให้เข้าถึงบาลีพระไตรปิฎก
การสร้างสถานศึกษาแห่งนี้ หากอาศัยกำลังพระธรรมวชิราจารย์ และผู้สนับสนุนเพียงลำพัง คงต้องใช้เวลาหลาย ๑๐ ปี ในการสร้าง หรือ อาจจะไม่สำเร็จเลย หากไม่มีผู้มีบุญบารมีทางพระพุทธศาสนาเข้ามาช่วยเหลือโอบอุ้มโครงการนี้ เหมือนเทพเทวาท่านดลบันดาล บุญพระเมตตาบารมีจัดสรรไว้ให้ เริ่มจากวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ นาวาอากาศตรีอัษฎาวุธ วัฒนางกูร อธิบดีกรมมหาดเล็ก ๙๐๔ และนายอรรถพงศ์ เกิดเกียรติพงศ์ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังได้เมตตาเดินทางมาพบรองศาสตราจารย์ ดร.เวทย์ บรรณกรกุล ที่บ้านพัก นครชัยศรี
สรุปคำสนทนา ที่จะจดจำน้อมไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ใจความว่า
“… พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใส่พระทัยในกิจการ พระพุทธศาสนาอย่างมาก พระองค์และท่านเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี ได้ศึกษาและปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างเข้มข้น ทรงจัดให้ข้าราชบริพารเรียนภาษาบาลี รวมทั้งติดตามการเรียนการสอนบาลี ทาง YouTube และ Facebook ช่องอาจารย์เวทย์ ด้วย มีพระกระแสดำรัสให้มารับทราบข้อมูลโครงการจัดตั้งโรงเรียนศากยบุตรสามเณรสีหะ Pali English Program เพื่อทรงพิจารณา พระราชทานความช่วยเหลือ”
งานสร้างและพัฒนา โรงเรียนศากยบุตรสามเณรสีหะ Pali English Program ดำเนินงานมาตามลำดับอย่างต่อเนื่อง โดยไร้ปัญหาอุปสรรค ด้วยอาศัยพระเมตตาบารมีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระมหากรุณาธิคุณ โปรดพระราชทานความช่วยเหลือมาตั้งแต่ต้น กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ พลอากาศเอก สถิตพงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์ เดินทางมาเยี่ยมชมโครงการสร้างโรงเรียนศากยบุตรสามเณรสีหะ ได้สนทนาสอบถามพระธรรมวชิราจารย์ และรศ.ดร.เวทย์ บรรณกรกุล มีใจความสนทนาเกี่ยวกับโครงการ ๓ ประเด็น คือ
๑. โครงการนี้มีวัตถุประสงค์การสร้างอย่างไร (สร้างทำไม?)
๒. มีกลุ่มเป้าหมายที่จะรับใครเข้าเรียน (ในทุ่งนาป่าข้าวเช่นนี้จะหาใครมาอยู่มาเรียน ?)
๓. ประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อการสร้างแล้วเสร็จ (ผลลัพธ์ของการสร้าง)
นอกจากประเด็นสนทนา ๓ ประการดังกล่าวนี้แล้ว ยังได้สอบถามเกี่ยวกับลำดับความสำคัญและจำเป็นของสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งทราบว่าที่โครงการนี้ยังไม่มีไฟฟ้าที่สามารถใช้ในการก่อสร้างได้ หลังจากนั้น ๑ สัปดาห์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำแพงแสน ก็ได้เข้าดำเนินการติดตั้งไฟฟ้า ๓ เฟสเข้าโครงการ จึงได้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ในต้นเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๔
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พลอากาศเอกสถิตพงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการ ในพระองค์ เดินทางมายังโครงการ โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เพื่อสำรวจเส้นทางเข้า โครงการอีกครั้ง หลังจากนั้นไม่นาน องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม โดยนายจิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ ก็ได้อนุมัติงบประมาณอย่างเร่งด่วนเข้าดำเนินการจัดทำถนนลาดยางจนแล้วเสร็จตลอดเส้นทางเชื่อมไปยังโครงการสร้างโรงพยาบาลศากยบุตรโสภณอนันต์กิจ และวัดสุวรรณมาลาโสภณอนันต์กิจ
นับจากวันแรกที่มีการประสานจากสำนักพระราชวัง ตั้งแต่วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๔ ได้มีเจ้าหน้าที่ทางราชการระดับอำเภอและจังหวัด เริ่มเข้ามาติดตามความคืบหน้าโครงการ แบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ สร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ดำเนินโครงการและกลุ่มผู้สนับสนุน สำนักพระราชวังได้เชิญผ้าไตร สังฆทานพระราชทานมาถวายพระสงฆ์และศากยบุตรสามเณรสีหะหลายครั้ง ในวันสำคัญของชาติและวันสำคัญทางพระศาสนา รวมทั้งกิจกรรมที่โครงการได้ดำเนินการ เช่น โครงการฝึกอบรมพระวิปัสสนาจารย์ ทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย โครงการบรรพชาศากยบุตรสามเณรสีหะ และโครงการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติถวายเป็นพระราชกุศล ในวาระต่าง ๆ พร้อมทั้งพระราชทานอุปถัมภ์กิจกรรมของมหาวิทยาลัย เช่น งานประชุมสภาวิชาการสัญจร เป็นต้น
ต่อมาวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๕ พล.อ.ท.ภักดี แสง-ชูโต และพล.อ.ต.สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง พร้อมคณะ ได้นำหนังสือสำนักพระราชวัง ที่ พว ๐๒๐๒.๒/๕๖๑๒ ลงวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นวันระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือ วันจักรี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามสถานศึกษาแห่งนี้ใหม่ว่า “มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย” ซึ่งมีความหมายว่าราชวิทยาลัยที่จัดการศึกษาคัมภีร์บาลีเถรวาทในรัชสมัยของพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่ามหาวชิราลงกรณ
ด้วยพระราชศรัทธาที่จะอุปถัมภ์บำรุงพระปริยัติศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบทุนสร้าง ๑๐๐ ล้านบาท (หนึ่งร้อยล้านบาทถ้วน) เพื่อเป็นสถานที่สำหรับจัดการศึกษาคัมภีร์บาลีเถรวาท พัฒนาศาสนทายาทให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญคัมภีร์บาลีเถรวาท และพัฒนาหลักสูตรเตปิฏกบาลีศากยสีหะ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นปริญญาเอก โดยเปิดการเรียนการสอนเป็น Pali English Program เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๗๐ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔
ได้ดำเนินการสร้างสถานศึกษา เพื่อสนองพระราชปุจฉาดังกล่าว โดยเบื้องต้น ตั้งชื่อโครงการว่า โครงการสร้างโรงเรียนศากยบุตรสามเณรสีหะ ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านรางพิกุล ตำบลรางพิกุล อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ตั้งแต่วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๔ โดยพระราชวชิรเวที (พระมหาบรรจบ ขนฺติโก) บริจาคที่ดิน ๓๖ ไร่ ๓ งาน ๗๒ ตารางวา เพื่อเป็นสถานที่สำหรับจัดการศึกษาคัมภีร์บาลีเถรวาท เสริมสร้างพัฒนาศาสนทายาทให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญคัมภีร์บาลีเถรวาท และพัฒนาหลักสูตรเตปิฏกบาลีศากยสีหะ ตั้งแต่ชั้นพื้นฐานจนถึงชั้นปริญญาเอก โดยเปิดการเรียนการสอนเป็น Pali English Program และพัฒนาสถานศึกษาเพื่อฝึกอบรมมูลกัมมัฏฐาน สำหรับสามเณร และเยาวชน ในระดับนานาชาติ เตรียมความพร้อมศาสนทายาท เข้าศึกษาในหลักสูตรบาลีพระไตรปิฎก ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก Pali English Program
ความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาธิคุณ ให้ข้าราชบริพารในสำนักพระราชวัง ติดต่อประสานงานเพื่อจะทรงทราบ หลักการและเหตุผลการจัดสร้างโรงเรียนศากยบุตรสามเณรสีหะ และทรงพิจารณาพระราชทานความอุปถัมภ์ ต่อมา วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๕ พล.อ.ท.ภักดี แสง-ชูโต และพล.อ.ต.สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง พร้อมคณะ ได้นำหนังสือสำนักพระราชวัง ที่ พว ๐๒๐๒.๒/๕๖๑๒ ลงวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นวันระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ หรือ วันจักรี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานนามสถานศึกษาแห่งนี้ใหม่ว่า “มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย” ซึ่งมีความหมายว่าราชวิทยาลัยที่จัดการศึกษาคัมภีร์บาลีเถรวาทในรัชสมัยของพระเจ้าแผ่นดินพระนามว่ามหาวชิราลงกรณ
ด้วยพระราชศรัทธาที่จะอุปถัมภ์บำรุงพระปริยัติศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบทุนสร้าง ๑๐๐ ล้านบาท (หนึ่งร้อยล้านบาทถ้วน) เพื่อเป็นสถานที่สำหรับจัดการศึกษาคัมภีร์บาลีเถรวาท พัฒนาศาสนทายาทให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญคัมภีร์บาลีเถรวาท และพัฒนาหลักสูตรเตปิฏกบาลีศากยสีหะ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงขั้นปริญญาเอก โดยเปิดการเรียนการสอนเป็น Pali English Program เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๗๐ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕
ปัจจุบันมีผู้บริจาคที่ดินรวมทั้งหมด ๑๗๓ ไร่ มีพระสงฆ์ ๑๒ รูป สามเณรนักเรียน ๑๑๙ รูป กำลังศึกษาคัมภีร์บาลีเถรวาทโบราณ “กัจจายนะสูตร” หลักสูตร Pali English Program